รายชื่อแม่น้ำในประเทศไทย 1

          แต่ละจังหวัดในประเทศไทย ได้มีแม่น้ำไม่ทุกจังหวัด แต่ก็สามารถเกื้อหนุนการทำมาหากินกันได้อย่างเพียงพอ โดยที่แม่น้ำสามารถกำเนิดขึ้นมาเองได้โดยธรรมชาติ เช่น จังหวัดชลบุรี สมัยก่อนไม่เคยมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่ปัจจุบันเป็นแหล่งต้นทางในการเกิดแม่น้ำประแสร์ได้

แม่น้ำกก
          น้ำแม่กก เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากทิวเขาแดนประเทศลาวและทิวเขาผีปันน้ำตอนเหนือของเมืองกก จังหวัดเชียงตุงภายในอาณาเขตของรัฐฉานในประเทศเมียนม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องน้ำแม่กก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไหลมาเรื่อยๆ จนผ่านตัวอำเภอเมืองเชียงราย หลังจากนั้นก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 285 กิโลเมตร (ในประเทศไทยมีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร) ลำน้ำสาขาที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่ฝาง น้ำแม่ลาว และน้ำแม่สรวย

แม่น้ำกระบี่
          แม่น้ำกระบี่ เป็นแม่น้ำสายเล็กๆ สายหนึ่งในจังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน แม่น้ำกระบี่ มีความยาวเพียง 5 กิโลเมตร ขนาบข้างไปด้วยเขาขนาบน้ำ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด นับว่าเป็นแม่น้ำสายที่สั้นที่สุดในประเทศไทย อยู่ในเขตอำเภอเมืองกระบี่ ก่อนไหลผ่านปากแม่น้ำลงสู่ทะเลอันดามัน มีความสำคัญ คือ บริเวณปากแม่น้ำนับว่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในอนุสัญญาแรมซาร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2544 เต็มไปด้วยป่าโกงกาง หรือป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ในธรรมชาติของปูดำ หรือปูทะเล ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

แม่น้ำกระบุรี
          แม่น้ำกระบุรี หรืออีกชื่อหนึ่งของคนในท้องถิ่นว่า แม่น้ำปากจั่น ภาษาเมียนม่าเรียก แม่น้ำจัน เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนม่า มีความยาวตลอดสายประมาณ 60 กิโลเมตร บางแห่งว่า 95 กิโลเมตร บางแห่งว่า 125 กิโลเมตร มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลผ่านพื้นที่อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง

แม่น้ำกลาย
          แม่น้ำกลาย เป็นแม่น้ำสายสำคัญในตอนเหนือของจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้นน้ำก่อกำเนิดมาจากผืนป่าบนทิวเขาจังหวัดนครศรีธรรมราชในเขตป่ากรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง และเขตอุทยานแห่งชาติเขานัน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ของ 2 อำเภอ ประกอบด้วย ตำบลนบพิตำ ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ กับ ตำบลตลิ่งชัน ตำบลกลาย และไหลออกสู่อ่าวไทยที่ ตำบลสระแก้ว ของอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความยาวทั้งหมดประมาณ 80 กิโลมเตร

แม่น้ำโก-ลก
          แม่น้ำโก-ลก เป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ชื่อแม่น้ำในภาษามลายูมีความหมายว่า “แม่น้ำมีดพร้า” แม่น้ำนี้กั้นระหว่างรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซียกับจังหวัดนราธิวาสของประเทศไทย และมีสะพานมิตรภาพเชื่อมระหว่างเมืองรันเตาปันจังของประเทศมาเลเซียและเมืองสุไหงโก-ลกของไทย โดยเมืองรันเตาปันเจาอยู่ในเขตปลอดอากร แม่น้ำนี้ไหลลงตรงอ่าวไทยที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยพื้นที่ริมแม่น้ำนี้ถูกน้ำท่วมประจำฤดูในช่วงมรสุม ครั้งหนึ่ง เคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่ในวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2552 ซึ่งก่อให้เกิดการอพยพฉุกเฉินในรัฐกลันตันบางส่วน แม่น้ำนี้มีต้นกำเนิดที่เขาเยลีบนทิวเขาสันกาลาคีรีในอำเภอสุคิริน แล้วไหลไปที่อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ รวมมีความยาว 103 กิโลเมตร บริเวณที่แม่น้ำไหลผ่าน โดยเฉพาะอำเภอสุคีริน เคยเป็นที่ตั้งของเหมืองทองคำหลายแห่งมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ครึกครื้นเหมือนแต่ก่อน แต่อาชีพร่อนทองยังคงมีอยู่ โดยชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาการขุดทองเป็นตัวหารายได้เสริมนอกจากการท่องเที่ยว

แม่น้ำโขง
          แม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย เกิดจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งบริเวณที่ราบสูงประเทศทิเบต ในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบต ผ่านประเทศจีน ประเทศเมียนม่า ประเทศลาว เริ่มไหลผ่านดินแดนประเทศไทยที่บริเวณสบรวก สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอเชียงของ ก่อนไหลเข้าประเทศลาวที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จึงนับเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ผ่านดินแดนภาคเหนือของไทย รวมความยาวช่วงที่ไหลผ่านพรมแดนกั้นประเทศไทย-ประเทศลาว ที่จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร ก่อนที่จะไหลวกกลับเข้ามายังดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่งที่บ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทย-ประเทศลาว ผ่านดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมความยาวช่วงที่ไหลผ่านพรมแดนกั้นประเทศไทย-ประเทศลาว เป็นระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร แล้วเข้าสู่ประเทศกัมพูชา ที่หมู่บ้านอินนัง ทางภาคเหนือของประเทศกัมพูชา แล้วไหลผ่านจังหวัดสตึงแตรง จังหวัดกระแจะ จังหวัดกำปงจาม กรุงพนมเปญ และไหลเข้าเขตประเทศเวียดนามที่หมู่บ้านวินฮือ ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ มีความยาวทั้งหมดประมาณ 4,909 กิโลเมตร เป็นความยาวในประเทศจีน 2,130 กิโลเมตร ช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านมีชื่อเรียกเป็นภาษาของไทลื้อ ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างหนาแน่นในดินแดนสิบสองปันนาว่า แม่น้ำของ คนจีนทั่วไปเรียกว่า แม่น้ำหลานชาง หรือ หลานชางเจียง จากชื่อของอาณาจักรลาวล้านช้าง เมื่อไหลผ่านเข้าเขตประเทศเมียนม่า และประเทศลาว เรียกว่า แม่น้ำของ รวมถึงคำเมืองล้านนาเรียก น้ำของ และภาษาว้าเรียก กรอง เช่นกัน ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า แม่น้ำโขง ไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ ประเทศจีน ประเทศเมียนม่า ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ และเมื่อไหลผ่านเข้าเขตสิบสองปันนา ประเทศเมียนม่า และประเทศลาว เรียกว่า แม่น้ำของ ในภาษาไทยเรียกว่า แม่น้ำโขง ลักษณะสำคัญของแม่น้ำโขงคือ มีตลิ่งที่สูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำจะไหลจากทางเหนือลงสู่ทางใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล ดินในแม่น้ำโขงเป็นดินทราย มีเกาะแก่งน้อยใหญ่กว่าหนึ่งร้อยแห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ การที่แม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศเช่นเดียวกับแม่น้ำดานูบในยุโรป ทำให้บางคนเรียกว่าแม่น้ำนานาชาติ และทำให้ได้รับการขนานนามว่า แม่น้ำดานูบตะวันออก นอกจากนี้ ในประเทศจีน แม่น้ำโขงยังเป็น 1 ในแม่น้ำ 3 สาย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำสาละวินในเขตพื้นที่มณฑลยูนนาน ภายใต้ชื่อ พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน พื้นที่ดังกล่าวนับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งบนโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลายหลายทางชีวภาพสูง

แม่น้ำแควน้อย
          แม่น้ำแควน้อย หรืออีกชื่อคือ แม่น้ำไทรโยค เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เกิดจากลำน้ำใหญ่สามสายจากเทือกเขาตะนาวศรี ได้แก่ แม่น้ำบีคี่ใหญ่ แม่น้ำซองกาเลีย และแม่น้ำรันตี ไหลไปรวมกันที่ด้านใต้ของด่านสามสบในเขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นไหลผ่านเขตอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค และอำเภอเมืองกาญจนบุรี แล้วจึงไหลไปรวมกับแม่น้ำแควใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง มีความยาวทั้งหมดประมาณ 330 กิโลเมตร สองฝั่งแม่น้ำเป็นภูเขาสูงชัน มีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) กั้นแม่น้ำแควน้อยที่อำเภอทองผาภูมิ มีเนื้อที่ผิวน้ำ 353 ตารางกิโลเมตร (220,625 ไร่) ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ

แม่น้ำแควน้อย (พิษณุโลก)
          แม่น้ำแควน้อย เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก มีต้นกำเนิดจากบริเวณภูหนอง ภูทอก และภูขัด ซึ่งเป็นกลุ่มภูเขาในทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาเพชรบูรณ์ในเขตอำเภอนครไทย ไหลลงมาในแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านที่ราบหุบเขาแควน้อยซึ่งเป็นหุบเขาแคบๆ ทางตอนเหนือของอำเภอนครไทย จากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอนครไทยกับอำเภอชาติตระการ อำเภอชาติตระการกับอำเภอวังทอง และอำเภอวังทองกับอำเภอวัดโบสถ์ เข้าเขตอำเภอวัดโบสถ์และอำเภอพรหมพิราม เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอพรหมพิรามกับอำเภอเมืองพิษณุโลก เข้าเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก และไปออกแม่น้ำน่าน (แต่เดิมเรียกว่า “แม่น้ำแควใหญ่”) ที่ปากโทก ระหว่างบ้านไผ่ค่อม ตำบลปากโทก กับบ้านจอมทอง ตำบลจอมทอง มีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร

แม่น้ำแควใหญ่
          แม่น้ำแควใหญ่ หรืออีกชื่อคือ แม่น้ำศรีสวัสดิ์ เป็นแม่น้ำสำคัญทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากเขารวกและเขาไม่มีชื่อในทิวเขาถนนธงชัยกลางในเขตอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ไหลไปทางทิศใต้ เข้าเขตอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี กับอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เข้าเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ ผ่านอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เข้าเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี จากนั้นไหลไปรวมกับแม่น้ำแควน้อยกลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง มีความยาวทั้งหมดประมาณ 399 กิโลเมตร (ส่วนของลำน้ำที่ถูกน้ำท่วมบริเวณเขื่อนศรีนครินทร์มีความยาว 159 กิโลเมตร) เป็นแม่น้ำที่มีสะพานข้ามแม่น้ำแควที่มีชื่อเสียง

แม่น้ำงัด
          แม่น้ำงัด หรือ น้ำแม่งัด หรือ ห้วยแม่งัด เป็นสาขาของแม่น้ำปิง มีต้นน้ำอยู่ที่ดอยจิกจ้อง ดอยผาลาย และดอยผาเกี๊ยะ ตอนเหนือของทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก ซึ่งล้อมรอบอำเภอพร้าวในจังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านทุ่งนาใกล้ที่ว่าการอำเภอพร้าว ลงตามผืนนาและเนินเขาเข้าสู่อำเภอดอยสะเก็ด มาบรรจบกับน้ำแม่โก๋น น้ำแม่คาว แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง มีความยาวทั้งหมดประมาณ 88.5 กิโลเมตร น้ำแม่งัดมีเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลกั้นขวางลำน้ำ ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ในอำเภอแม่แตง มีความจุน้ำ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร

แม่น้ำงาว
          แม่น้ำงาว เป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่มีต้นกำเนิดในอำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยต้นน้ำอยู่ที่บริเวณดอยผาแม่จกซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งของทิวเขาผีปันน้ำตะวันออกในเขตบ้านขุนแม่งาว ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว ไหลจากภูเขาสูงผ่านที่ราบลุ่มลงสู่อำเภองาว จากนั้นไหลไปบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านปากงาว ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ แม่น้ำงาวเป็นลำน้ำสาขาหลักของแม่น้ำยม หนึ่งในแม่น้ำสี่สายต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาวทั้งหมดประมาณ 98 กิโลเมตร

แม่น้ำจันทบุรี
          แม่น้ำจันทบุรี หรือเดิมเรียกว่า แม่น้ำจันทบูร เป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดจันทบุรี มีต้นกำเนิดจากบริเวณเขาสอยดาวเหนือในเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ ไหลผ่านอำเภอมะขามและอำเภอเมืองจันทบุรีไปลงอ่าวไทยที่ปากน้ำแหลมสิงห์ เขตอำเภอแหลมสิงห์ มีความยาวทั้งหมดประมาณ 105 กิโลเมตร มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ตั้งแต่ต้นน้ำคือคลองตารอง คลองจันทเขลม คลองน้ำขุ่น คลองจันทบุรี และแม่น้ำจันทบุรี มีลำน้ำสาขาที่สำคัญคือคลองตาหลิ่ว คลองตะเคียนทอง คลองฉมัน คลองลี่ และคลองท่าช้าง ตรงปากแม่น้ำมีสะพานตากสินมหาราชหรือสะพานแหลมสิงห์ทอดข้าม เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในภาคตะวันออก มีความยาว 1.06 กิโลเมตร

แม่น้ำเจ้าพระยา
          แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำสาขาหลัก 2 สายจากภาคเหนือ คือ แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน โดยมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจะเห็นความแตกต่างของสายน้ำทั้งสองได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ แม่น้ำน่านมีสีค่อนข้างแดง ส่วนแม่น้ำปิงมีสีค่อนข้างเขียว เมื่อมาบรรจบกันแล้วจึงค่อยๆ รวมตัวเข้าด้วยกันกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ จากนั้นไหลลงไปทางทิศใต้ ผ่านจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ก่อนออกสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำในอำเภอเมืองสมุทรปราการและอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีความยาวทั้งหมดประมาณ 372 กิโลเมตร

แม่น้ำแจ่ม
          แม่น้ำแจ่ม หรือ น้ำแม่แจ่ม หรือ แม่น้ำสลักหิน เป็นลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำปิงตอนบน มีต้นน้ำอยู่ที่ดอยกิ่วป่าก้าง ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม ไหลจากทางเหนือลงมาทางใต้ เป็นลำน้ำที่เกิดจากห้วยแม่แจ่ม ห้วยแม่แจ่มน้อย ห้วยตอง ไหลรวมกับลำธารอื่นๆ ทางด้านทิศใต้ของบ้านแจ่มหลวง ในเขตตำบลแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม และรับน้ำจากลำน้ำสาขาอื่นๆ ที่ไหลจากลาดเขาด้านตะวันตกของเทือกเขาถนนธงชัยตะวันออกและรวมน้ำที่รับเพิ่มเติมจากลำน้ำสาขาอื่นๆ ที่ไหลจากลาดเขาด้านตะวันออกของเทือกเขาถนนธงชัยกลาง ได้แก่ ลำน้ำสาขาต่างๆ คือ ลำน้ำแม่เอาะ ลำน้ำแม่ตะละ ลำน้ำแม่สะงะ ลำน้ำแม่หยอด ลำน้ำแม่ปาน ลำน้ำแม่ศึก ลำน้ำแม่แรก และลำน้ำแม่แดด เป็นต้น แล้วไหลลงแม่น้ำปิง บริเวณบ้านสบแจ่ม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีความยาวของลำน้ำทั้งสิ้น 170 กิโลเมตร เป็นลำน้ำใหญ่ที่มีน้ำไหลเชี่ยวคดเคี้ยวไประหว่างโขดเขาและหุบผา มีเกาะแก่งและหาดทรายเป็นช่วงๆ โดยร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำแม่ปิง และร้อยละ 16 ของเจ้าพระยามาจากลุ่มน้ำแห่งนี้

แม่น้ำชี
          แม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 765 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 49,480 ตร.กม. เป็นแม่น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยแม่น้ำชี มีต้นกำเนิดจากที่ราบด้านตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์นับตั้งแต่เขาสันปันน้ำ เขาแปปันน้ำ เขาเสลียงตาถาด เขาอุ้มน้ำ เขายอดชี เขาครอก จนถึงเขาเทวดา ซึ่งเป็นแนวภูเขาชายเขตแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชัยภูมิ โดยมีสาขาหลัก 5 ลำน้ำซึ่งประกอบไปด้วย ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ลำน้ำเซิน ลำน้ำปาว และลำน้ำยัง ไหลผ่านจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ รอยต่อจังหวัดศรีสะเกษ กับจังหวัดอุบลราชธานี

แม่น้ำซองกาเลีย
          แม่น้ำซองกาเลีย หรือ ห้วยซองกาเลีย เป็นลำน้ำสายหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านคดเคี้ยวผ่านชุมชนและหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงหลายแห่ง เป็นแม่น้ำที่แบ่งตัวอำเภอสังขละบุรีออกเป็นสองฝั่ง ก่อนไหลไปรวมกับลำน้ำอีกสองสายคือแม่น้ำรันตีและแม่น้ำบีคี่ใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแควน้อย ณ จุดที่เรียกว่า “สามสบ” หรือ “สามประสบ” ใกล้กับสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) และวัดวังก์วิเวการาม คำว่า ซองกาเลีย เป็นภาษามอญแปลว่า “ฝั่งโน้น” ในปัจจุบันแม่น้ำซองกาเลียเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบผจญภัยด้วยการล่องเรือคายักจากสะพานซองกาเลียไปยังสะพานอุตตมานุสรณ์

แม่น้ำตรัง
          แม่น้ำตรัง เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดตรัง มีความยาวทั้งหมดประมาณ 123 กิโลเมตร เมื่ออยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า แม่น้ำหลวง เมื่อไหลเข้าเขตจังหวัดตรังเรียกว่า แม่น้ำตรัง ในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเมืองตรัง เรียกว่า คลองท่าจีน เดิมใช้เป็นเส้นทางคมนาคม จากดินแดนภายในจังหวัดติดต่อไปยังทะเลที่ปากน้ำกันตัง กล่าวกันว่า ในสมัยโบราณสามารถเดินเรือไปได้ถึงทุ่งสง เดิมแม่น้ำสายนี้มีความกว้างราว 50 เมตร แต่ปัจจุบันบางแห่งเหลือความกว้างเพียง 30 เมตร

แม่น้ำตาปี
          แม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช และไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่อ่าวบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความยาวทั้งหมดประมาณ 232 กิโลเมตร

แม่น้ำตุ๋ย
          น้ำแม่ตุ๋ย เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำวังในท้องที่จังหวัดลำปาง มีต้นกำเนิดมาจากเขาไม่มีชื่อในเขตตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน (ตอนต้นน้ำเรียก น้ำแม่กวม) ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ เข้าเขตอำเภอเมืองลำปาง ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำวังที่บ้านทับหมาก ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง น้ำแม่ตุ๋ยมีลำน้ำสาขาย่อยที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่ไพร น้ำแม่เฟือง และน้ำแม่ค่อม มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 801 ตารางกิโลเมตร มีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร

แม่น้ำท่าจีน
          แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะไหลออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีความยาวทั้งหมดประมาณ 315 กิโลเมตร แม่น้ำท่าจีนมีชื่อเรียกหลายชื่อ ตอนที่ไหลผ่านจังหวัดชัยนาทเรียกว่า “คลองมะขามเฒ่า” ตอนที่ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า “แม่น้ำสุพรรณบุรี” ตอนที่ผ่านจังหวัดนครปฐมเรียกว่า “แม่น้ำนครชัยศรี” ส่วนตอนที่ไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาครลงสู่อ่าวไทยเรียกว่า “แม่น้ำท่าจีน”

แม่น้ำนครนายก
          แม่น้ำนครนายก เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดจากคลองวังตะไคร้ คลองนางรอง คลองท่าด่าน และลำห้วยหลายสายไหลไปรวมกันที่บริเวณแนวแบ่งเขตตำบลสาริกากับตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จากนั้นไหลผ่านตัวจังหวัดนครนายกเข้าเขตอำเภอบ้านนาและอำเภอองครักษ์ แล้วไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก กับอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และระหว่างอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี กับอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปลงแม่น้ำบางปะกงที่ปากน้ำโยธะกา มีความยาวทั้งหมดประมาณ 109 กิโลเมตร

แม่น้ำน้อย
          แม่น้ำน้อย เป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านอำเภอสรรคบุรี เข้าเขตจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านอำเภอบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน และอำเภอท่าช้าง แล้วเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง กับอำเภอท่าช้างและอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เข้าเขตจังหวัดอ่างทอง ผ่านอำเภอโพธิ์ทองและอำเภอวิเศษชัยชาญ จากนั้นเข้าเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านอำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล แล้วไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งที่อำเภอบางไทร มีความยาวทั้งหมดประมาณ 155 กิโลเมตร