รายชื่อแม่น้ำในประเทศไทย 2

          แต่ละจังหวัดในประเทศไทย ได้มีแม่น้ำไม่ทุกจังหวัด แต่ก็สามารถเกื้อหนุนการทำมาหากินกันได้อย่างเพียงพอ โดยที่แม่น้ำสามารถกำเนิดขึ้นมาเองได้โดยธรรมชาติ เช่น จังหวัดชลบุรี สมัยก่อนไม่เคยมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่ปัจจุบันเป็นแหล่งต้นทางในการเกิดแม่น้ำประแสร์ได้

แม่น้ำน่าน
          แม่น้ำน่าน มีต้นกำเนิดอยู่ในเทือกเขาหลวงพระบาง จังหวัดน่าน มีความยาวทั้งหมดตลอดลำน้ำประมาณ 740 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในบรรดาแควต้นน้ำเจ้าพระยาด้วยกัน นับเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย

แม่น้ำบางขาม
          แม่น้ำบางขามเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ มีความยาวเพียงประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งมีต้นกำเนิดจากคลอง ในเขตอำเภอบ้านหมี่ ไหลไปรวมกับแม่น้ำลพบุรี ในเขตอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ลุ่มแม่น้ำบางขาม จังหวัดลพบุรี เป็นสายน้ำแห่งวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่า เดิมชุมชนแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศักราช 1100-1600 เป็นแหล่งอารยธรรมของมอญอาศัยอยู่ชื่อว่า “เมืองราม” เมื่ออิทธิพลขอมเรืองอำนาจ อาณาจักรทวารวดีล่มสลายลง และต่อมาชนเผ่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผู้คนจาก จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดลพบุรี ได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำบางขามและเนื่องจากริมแม่น้ำดังกล่าวมีต้นไผ่ซึ่งชาวบ้านปลูกไว้เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และป้องกันลมจากชายน้ำ และมีจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่าเป็น บ้านบางไผ่ ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่บริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลบางพึ่ง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ลุ่มแม่น้ำบางขาม ประกอบด้วย ตำบลมหาสอน ตำบลบางพึ่ง ตำบลบ้านชี ตำบลบางขาม อำเภอบ้านหมี่ และตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ซึ่งวิถีชีวิตเดิมมีความผูกพันกับสายน้ำใช้เป็นเส้นทาง สัญจร ค้าขาย โดยเฉพาะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำนาตลอดปีโดยอาศัยแหล่งน้ำจากแม่น้ำบางขาม ในปีพุทธศักราช 2546 จังหวัดลพบุรี ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้ร่วมกันอนุรักษ์คุณภาพของน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายทรัพยากร โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี ได้ร่วมกันขุดลอกและกำจัดผักตบชวาและดำเนินการจัดทำประตูสำหรับการระบายน้ำแม่น้ำบางขาม วึ่งทำให้ประชาชนในเขตลุ่มน้ำบางขามได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แยงทำให้วิถีชีวิตผู้คนลุ่มน้ำบางขาม กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

แม่น้ำบางตะบูน
          แม่น้ำบางตะบูน หรือ คลองบางตะบูน เป็นลำน้ำสายหนึ่งในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีต้นกำเนิดจากจุดที่คลองไหหลำและคลองบางสามแพรกไหลมารวมกันบริเวณวัดเกาะแก้ว ตำบลบางตะบูนออก ไปลงอ่าวบางตะบูนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวไทย มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร

แม่น้ำบางนรา
          แม่น้ำบางนรา เป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดนราธิวาส มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำโก-ลกซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียในอำเภอตากใบ ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ บางช่วงเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอตากใบกับอำเภอสุไหงปาดีและอำเภอเจาะไอร้อง และระหว่างอำเภอเจาะไอร้องกับอำเภอเมืองนราธิวาส จากนั้นไหลผ่านพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาสไปลงอ่าวไทย มีความยาวประมาณ 55 กิโลเมตร แม่น้ำยังรับน้ำที่ระบายออกจากพรุโต๊ะแดงซึ่งเป็นพรุขนาดใหญ่มีพื้นที่ราว 100,000 ไร่ ตอนกลางของแม่น้ำรับน้ำเปรี้ยวซึ่งมีความเป็นกรดสูงจากพรุดังกล่าว บริเวณปากแม่น้ำบางนราในตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส มีสถานที่ท่องเที่ยวคือเขื่อนท่าพระยาสาย เป็นบริเวณของสันเขื่อนที่มีความยาว 600 เมตร สร้างขึ้นหลังจากบริเวณท่าพระยาสายถูกน้ำกัดเซาะจนตลิ่งพังเสียหาย เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พุทธศักราช 2534 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พุทธศักราช 2536 เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวนราธิวาสและยังเป็นจุดชมการแข่งขันเรือกอและและเรือยาวประจำปี

แม่น้ำบางปะกง
          แม่น้ำบางปะกง เป็นแม่น้ำสายสำคัญในจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี มีต้นกำเนิดจากจุดที่แม่น้ำหนุมานและแม่น้ำพระปรงไหลมารวมกันในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นไหลผ่านอำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอเมืองปราจีนบุรี เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรีกับอำเภอบ้านสร้าง เข้าเขตอำเภอบ้านสร้าง ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี กับอำเภอบางน้ำเปรี้ยวและอำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอคลองเขื่อนกับอำเภอบางคล้า เข้าเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง ไปลงอ่าวไทยที่แนวแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา กับอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีความยาวทั้งหมดประมาณ 230 กิโลเมตร และมีความกว้างในช่วงที่ไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราประมาณ 120 เมตร

แม่น้ำบีคี่ใหญ่
          แม่น้ำบีคี่ใหญ่ เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ไหลไปรวมกับลำน้ำอีกสองสายคือแม่น้ำซองกาเลียและแม่น้ำรันตีกลายเป็นแม่น้ำแควน้อย ณ จุดที่เรียกว่า “สามสบ” หรือ “สามประสบ” ใกล้กับสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) และวัดวังก์วิเวการาม แม่น้ำบีคี่ใหญ่เป็นแม่น้ำที่ท่วมไหลลึกเข้าไปถึงต้นน้ำ เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของสัตว์น้ำอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญจำนวนมาก เป็นแหล่งอาศัยและแพร่กระจายพันธุ์ของพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาค้าวดำ ปลายี่สก ปลากา ปลาตะเพียน และปลาเวียน เป็นต้น ปลาเหล่านี้มีพฤติกรรมวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมอันเป็นช่วงฤดูฝนในบริเวณที่เป็นต้นน้ำจำนวนมาก อีกทั้งยังไหลผ่านชุมชนและหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงอีกหลายแห่ง ในปัจจุบัน แม่น้ำบีคี่ใหญ่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรีร่วมกับแม่น้ำซองกาเลียและแม่น้ำรันตี

แม่น้ำประแสร์
          แม่น้ำประแสร์ เดิมชื่อ แม่น้ำแกลง เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดระยอง มีต้นกำเนิดจากบริเวณเขาช่องลมในเขตอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแล้ววกลงทิศใต้ จากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอบ่อทองกับอำเภอหนองใหญ่ก่อนเข้าเขตจังหวัดระยอง ผ่านอำเภอวังจันทร์ ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอวังจันทร์กับอำเภอแกลง ผ่านอำเภอแกลง แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำประแสร์ (ปากน้ำกระแส) มีความยาวทั้งหมดประมาณ 117 กิโลเมตร มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ตั้งแต่ต้นน้ำคือ คลองประแสร์ คลองกระแส คลองวังรี (บางตอน) คลองใหญ่ คลองประแสร์ คลองสะพานดำ คลองสามย่าน และแม่น้ำประแสร์ บริเวณใกล้กับปากแม่น้ำมีสะพานประแสสินทอดข้าม มีความยาว 2,090 เมตร ชื่อแม่น้ำ “ประแสร์” บ้างว่าเพี้ยนมาจากคำว่า กระแส ซึ่งหมายถึงกระแสน้ำจืดที่ไหลมาปะทะน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำ แต่บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำในภาษาชองว่า พรี่แซ ซึ่งแปลว่า “ป่านา” คือป่าที่ถางแล้วและใช้ปลูกข้าว ชุมชนปากน้ำประแสร์มีความเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยนั้นได้ส่งส่วยเป็นของป่าและผลผลิตหัตถกรรมให้แก่เมืองหลวง บริเวณใกล้กับชุมชนยังเป็นเส้นทางการเดินทัพตลอดจนเป็นที่พักทัพของพระยาตาก ในปัจจุบันบริเวณปากน้ำประแสร์เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง ฝั่งขวามีวัดสมมติเทพฐาปนาราม (วัดแหลมสน) ซึ่งมีเจดีย์เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2416 และมีหาดแหลมสนเป็นหาดทรายที่ยื่นออกไปคล้ายแหลม ส่วนฝั่งซ้ายเป็นบ้านตลาดประแสร์ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ มีบ้านเรือนหนาแน่น และมีเรือรบหลวงประแสซึ่งเทศบาลตำบลปากน้ำประแสขอรับมาตั้งเป็นอนุสรณ์ที่หาดประแสร์ในพุทธศักราช 2546 ประชากรที่อาศัยในชุมชนมีทั้งชาวไทยและชาวจีน ชุมชนมีประเพณีลอยกระทง และยังมีประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำซึ่งมีความสำคัญและมีความแปลกตากว่าพื้นที่อื่น โดยเป็นประเพณีที่มีมานานกว่า 100 ปีแต่หายไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่พุทธศักราช 2540

แม่น้ำปราณบุรี
          แม่น้ำปราณบุรี เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีต้นกำเนิดบริเวณเขาพะเนินทุ่งในเทือกเขาตะนาวศรี โดยน้ำจากห้วยและลำน้ำหลายสายไหลมารวมกันที่บ้านกร่าง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นไหลเข้าเขตอำเภอหัวหินและอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะลงสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำปราณซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ป่าชายเลนในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 162 กิโลเมตร

แม่น้ำปัตตานี
          แม่น้ำปัตตานี คือแม่น้ำที่มีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาสันกาลาคีรี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ไหลผ่านเขื่อนบางลาง ผ่านจังหวัดปัตตานีและสิ้นสุดที่อำเภอเมืองปัตตานี ไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย แม่น้ำมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 214 กิโลเมตร

แม่น้ำปากพนัง
          แม่น้ำปากพนัง เป็นแม่น้ำทางภาคใต้ของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากทิวเขานครศรีธรรมราชไหลมาบรรจบกับแควสาขาที่ไหลมาจากทะเลสาบสงขลาที่ตำบลปากแพรก ไหลขึ้นไปด้านทิศเหนือลงสู่อ่าวจังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณบ้านปากน้ำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปากแม่น้ำนั้นมีแหลมจะงอยยื่นออกไปกลางทะเลชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า แหลมตะลุมพุก แม่น้ำปากพนังไหลผ่าน 12 อำเภอ ของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง แม่น้ำมีความยาวทั้งหมดประมาณ 147 กิโลเมตร แม่น้ำปากพนังมีลำน้ำสาขาไหลลงแม่น้ำปากพนังหลายสาย เช่น คลองลาไม คลองกุ่ม ห้วยถ้ำพระ คลองฆ้อง คลองโคกยาง คลองเสาธง คลองชะเวง และคลองบางไทร เป็นต้น ตอนบนของลุ่มน้ำปากพนัง เป็นที่ลาดชันมาก ลักษณะลำน้ำช่วงกลางเป็นแอ่งกะทะและพื้นที่ลุ่มน้ำตอนกลาง มีลักษณะเป็นพรุกว้างใหญ่ แม่น้ำปากพนังจากช่วง 8 กิโลเมตรแรกจากปากน้ำ มีความลึกประมาณ 5-6 เมตร และมีความกว้างประมาณ 300 เมตร

แม่น้ำปาย
          แม่น้ำปาย คือแม่น้ำที่ไหลผ่านอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า และอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนที่จะไหลลงไปสู่แม่น้ำสาละวิน ในรัฐกะยา ประเทศเมียนม่า มีต้นสายอยู่ในเทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาแดนประเทศลาว อยู่ในท้องที่ของอำเภอปาย แม่น้ำสายนี้มีความยาวทั้งหมดประมาณ 180 กิโลเมตร

แม่น้ำป่าสัก
          แม่น้ำป่าสัก เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ต้นน้ำเกิดจากภูขวางในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย (ตอนต้นน้ำเรียก น้ำสัก) ไหลเข้าเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านเขตอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหนองไผ่ อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ เข้าเขตจังหวัดลพบุรี ผ่านเขตอำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าหลวง และอำเภอพัฒนานิคม เข้าเขตจังหวัดสระบุรี ผ่านเขตอำเภอวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย อำเภอเมืองสระบุรี และอำเภอเสาไห้ จากนั้นไหลเข้าเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านเขตอำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร มีความยาวทั้งหมดประมาณ 570 กิโลเมตร จังหวัดที่แม่น้ำป่าสักไหลผ่าน ได้แก่ จังหวัดเลย จังหววัดเพชรบูรณ์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แม่น้ำปิง
          แม่น้ำปิง หรือ แม่ปิง หรือ แม่ระมิงค์ เป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในสองของแม่น้ำที่บรรจบมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิงไหลอยู่ในหุบเขาระหว่างทิวเขาถนนธงชัยกลางกับทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก มีต้นน้ำอยู่ที่ดอยเชียงดาวในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไหลลงทางใต้ผ่านจังหวัดลำพูน รวมกับแม่น้ำวังที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ไหลลงใต้ผ่านจังหวัดกำแพงเพชร แล้วบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และจากจุดนี้ไปเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิงมีความยาวทั้งหมดประมาณ 658 กิโลเมตร แม่น้ำปิงมีแม่น้ำสาขาที่สำคัญอยู่ 6 สาย ได้แก่ น้ำแม่งัด น้ำแม่แตง น้ำแม่กวง น้ำแม่ลี้ น้ำแม่กลาง และน้ำแม่แจ่ม ในบริเวณแม่น้ำปิงตอนบนเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีเนื้อที่ 627,346 ไร่ (1,003.75 ตารางกิโลเมตร)

แม่น้ำพระปรง
          แม่น้ำพระปรง หรือ แควพระปรง เป็นลำน้ำสายหนึ่งในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี ต้นน้ำเกิดจากทุ่งละเลิงไผ่บริเวณทิวเขาพนมดงรักในเขตอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ไหลลงทางทิศใต้และทิศตะวันตก ผ่านเขตอำเภอวัฒนานครและอำเภอเมืองสระแก้ว จากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว กับอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วไหลต่อไปทางทิศตะวันตกจนไปรวมกับแม่น้ำหนุมานที่ตัวเมืองกบินทร์บุรี กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี มีความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ตั้งแต่ต้นน้ำคือ “ห้วยพระปรงน้อย”, “ห้วยพระปรงใหญ่”, “ห้วยพระปรง”, “คลองพระปรง” และ “แม่น้ำพระปรง” แต่ชาวกบินทร์บุรียังเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “แควใหญ่” คู่กับ “แควน้อย” หรือแม่น้ำหนุมาน

แม่น้ำพิจิตร
          แม่น้ำพิจิตร หรือ แม่น้ำน่านเก่า เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำน่าน ยาวประมาณ 128 กิโลเมตร มีต้นน้ำไหลแยกจากแม่น้ำน่านที่บ้านวังกระดี่ทอง อำเภอเมืองพิจิตร สภาพลำน้ำคดเคี้ยว ไหลผ่านอำเภอเมืองพิจิตร อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอตะพานหิน แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านบางคลาน อำเภอโพทะเล ระหว่างทางของแม่น้ำพิจิตรแตกสาขาเป็นคลองข้าวตอก ซึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำน่านอีกครั้งหนึ่งด้วยความยาว 58 กิโลเมตร เหตุที่เรียกแม่น้ำน่านเก่าเพราะเดิมคือแม่น้ำน่านแต่ภายหลังแม่น้ำได้เปลี่ยนทางเดิน ในแผนที่กรมแผ่นที่ทหาร แม่น้ำน่านในช่วงผ่านอำเภอเมืองพิจิตร เรียกว่า น้ำเมืองเก่า ส่วนตอนที่ผ่านอำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอตะพานหิน และอำเภอโพทะเล เรียก แม่น้ำพิจิตร แม่น้ำพิจิตรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ ดงเศรษฐี บริเวณปากแม่น้ำพิจิตรที่แยกมาจากแม่น้ำน่าน บริเวณตำบลย่านยาว อำเภอเมืองพิจิตร เมื่อพุทธศักราช 2543 เพื่อผันน้ำเข้าแม่น้ำพิจิตร และได้โอนภารกิจให้กรมทรัพยากรน้ำ เมื่อพุทธศักราช 2545 และช่วงพุทธศักราช 2551-2555 กรมทรัพยากรน้ำยังได้ฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร มีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 3 แห่งในแม่น้ำพิจิตร ชื่อ ปตร.ดงเศรษฐี

แม่น้ำพุมดวง
          แม่น้ำพุมดวง หรือ แม่น้ำคีรีรัฐ เป็นแม่น้ำสายสำคัญทางด้านตะวันตกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากต้นน้ำเกิดจากเทือกเขา ระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่อำเภอพนม และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความยาวทั้งหมดประมาณ 120 กิโลเมตร

แม่น้ำเพชรบุรี
          แม่น้ำเพชรบุรี เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดเพชรบุรี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรีในเขตอำเภอแก่งกระจาน ไหลไปทางทิศเหนือ เมื่อถึงจุดที่แม่น้ำบางกลอยไหลมาบรรจบจึงวกไปทางทิศตะวันออกและไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเขตอำเภอท่ายาง เมื่อถึงจุดที่ห้วยหินเพลิงไหลมาบรรจบจึงเปลี่ยนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลผ่านเขตอำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 233 กิโลเมตร แม่น้ำเพชรบุรีส่งตะกอนมาตกสะสมเกิดเป็นที่งอกและดินดอนชายฝั่ง มีปริมาณตะกอน 46 ตันต่อตารางกิโลเมตร พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันจะอยู่ตามสองฟากฝั่งของแม่น้ำนี้

แม่น้ำภาชี
          แม่น้ำภาชี (ตอนปลายน้ำเรียกว่า ลำภาชี) เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในภาคตะวันตกของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากเขาไม่มีชื่อซึ่งแบ่งเขตระหว่างอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี กับอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ไหลผ่านเขตอำเภอบ้านคา อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอจอมบึง เข้าเขตอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ไปลงแม่น้ำแควน้อยที่แนวแบ่งเขตระหว่างตำบลจรเข้เผือกกับตำบลกลอนโด มีความยาวทั้งหมดประมาณ 154 กิโลเมตร

แม่น้ำมูล
          แม่น้ำมูล เป็นแม่น้ำสายหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 640 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 69,701 ตารางกิโลเมตร ทำให้เป็นแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมากที่สุดของภาคอีสาน ไหลจากต้นน้ำจากบริเวณเขื่อนมูลบน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไปสู่ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ และไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบัน ชื่อของแม่น้ำสายนี้ สะกด “มูล” แต่เดิมนั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้คำสะกด “มูน” ซึ่งเป็นภาษาถิ่น หมายถึง สิ่งมีค่าน่าหวงแหน เป็นมรดกของบรรพบุรุษสั่งสมเก็บไว้ให้ลูกหลาน แต่ทางราชการได้กำหนดภาษาราชการตามเสียงเรียก โดยสะกด “มูล” ด้วย ล

แม่น้ำเมย
          แม่น้ำเมย เป็นแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำสาละวิน มีต้นกำเนิดในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ไหลขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง มาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความยาวทั้งหมดประมาณ 327 กิโลเมตร เป็นพรมแดนธรรมชาติประหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนม่าและมีความสำคัญในการลำเลียงสินค้าทางน้ำระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนม่า

แม่น้ำแม่กลอง
          แม่กลอง เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในภาคตะวันตกของประเทศไทย เกิดจากแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยไหลมารวมกันที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีความยาวทั้งหมดประมาณ 132 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำที่ปากแม่น้ำแม่กลอง 30,106 ตารางกิโลเมตร ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดราชบุรีได้อีกชื่อหนึ่งว่า “แม่น้ำราชบุรี” แม่น้ำแม่กลองมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 30,837 ตารางกิโลเมตร หรือ 19.45 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม บางส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 7,973 ล้านลูกบาศก์เมตร ลุ่มน้ำแม่กลองแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำย่อย 14 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ แม่น้ำแควใหญ่ (1,445 ตารางกิโลเมตร), ห้วยแม่ละมุง (910 ตารางกิโลเมตร), ห้วยแม่จัน (862 ตารางกิโลเมตร), แม่น้ำแควใหญ่ตอนกลาง (3,380 ตารางกิโลเมตร), แม่น้ำแควใหญ่ตอนล่าง (4,094 ตารางกิโลเมตร), ห้วยขาแข้ง (2,320 ตารางกิโลเมตร), ห้วยตะเพียน (2,627 ตารางกิโลเมตร), แม่น้ำแควน้อยตอนบน (3,947 ตารางกิโลเมตร), ห้วยเขย็ง (1,015 ตารางกิโลเมตร), ห้วยแม่น้ำน้อย (947 ตารางกิโลเมตร), ห้วยบ้องตี้ (477 ตารางกิโลเมตร), แม่น้ำแควน้อยตอนกลาง (2,042 ตารางกิโลเมตร), แม่น้ำภาชี (2,453 ตารางกิโลเมตร) และทุ่งราบแม่น้ำแม่กลอง (4,318 ตารางกิโลเมตร)

แม่น้ำเมืองตราด
          แม่น้ำเมืองตราด หรือ แม่น้ำตราด เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของจังหวัดตราด เกิดจากคลองสะตอและคลองแอ่งซึ่งรับน้ำจากทิวเขาบรรทัดไหลมารวมกันที่เขตติดต่อระหว่างอำเภอบ่อไร่กับอำเภอเขาสมิง แล้วไหลลงทางใต้ ผ่านเขตอำเภอเขาสมิง วกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเขตอำเภอเมืองตราด ผ่านตัวจังหวัดไปลงอ่าวตราดในอ่าวไทย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 55 กิโลเมตร