รายชื่อแม่น้ำในประเทศไทย 3

          แต่ละจังหวัดในประเทศไทย ได้มีแม่น้ำไม่ทุกจังหวัด แต่ก็สามารถเกื้อหนุนการทำมาหากินกันได้อย่างเพียงพอ โดยที่แม่น้ำสามารถกำเนิดขึ้นมาเองได้โดยธรรมชาติ เช่น จังหวัดชลบุรี สมัยก่อนไม่เคยมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่ปัจจุบันเป็นแหล่งต้นทางในการเกิดแม่น้ำประแสร์ได้

แม่น้ำยม
          แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดอยู่ในป่าดงดิบสูงชันสลับซับซ้อนบนเทือกเขาผีปันน้ำและเทือกเขาแดนประเทศลาว ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพะเยาและจังหวัดแพร่ โดยมีแม่น้ำงิม และ แม่น้ำควร ไหลมาบรรจบกันที่บ้านบุญยืน ตำบลนาปรัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีความยาวทั้งหมดประมาณ 735 กิโลเมตร กระแสน้ำไหลผ่านที่ราบสูงของอำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ผ่านจังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนแม่น้ำน่านจะไปรวมกับแม่น้ำปิง ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญของพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย สภาพโครงสร้างทางน้ำของแม่น้ำยมมีลักษณะแบบกิ่งไม้ ประกอบด้วยลำน้ำสาขา 77 สาย ระดับน้ำสูงสุดในฤดูฝน ลดลงเมื่อถึงฤดูหนาว และต่ำสุดในฤดูร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

แม่น้ำรวก
          แม่น้ำรวก เป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือของประเทศไทย ที่เป็นพรมแดนทางธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนม่า โดยมีต้นกำเนิดที่เทือกเขาแดนประเทศลาว ภายในอาณาเขตของประเทศเมียนม่า แล้วไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วก็ไปรวมกับแม่น้ำสาย ซึ่งอยู่ในอำเภอเดียวกัน หลังจากนั้นก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งจุดที่แม่น้ำรวกไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ เรียกว่า สบรวก

แม่น้ำระยอง
          แม่น้ำระยอง เป็นแม่น้ำในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง มีต้นกำเนิดบริเวณเขาเลี้ยงควายในเขตอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ไหลไปทางทิศใต้ ช่วงนี้เรียกว่า ห้วยท่าจาม เมื่อเข้าเขตอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง จึงเรียกว่า คลองใหญ่ จากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอปลวกแดงกับอำเภอบ้านค่ายและผ่านเขตอำเภอบ้านค่าย เมื่อเข้าเขตอำเภอเมืองระยองจึงเรียกว่า “แม่น้ำระยอง” จากนั้นจึงไหลลงสู่อ่าวไทย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 70 กิโลเมตร ปากแม่น้ำระยองที่ไหลลงสู่อ่าวไทยเป็นเพียงร่องน้ำที่ไหลผ่านสันทรายแคบๆ เท่านั้น โดยก่อนไหลสู่ทะเล แม่น้ำจะไหลคดเคี้ยวไปตามพื้นที่ราบและแตกกิ่งก้านสาขา วกวนจนเกิดเกาะแก่ง พื้นท้องแม่น้ำเป็นโคลนเลนและเป็นพื้นที่ป่าชายเลน มีสันทรายแคบๆ กั้นพื้นที่ทะเลด้านนอกที่เป็นพื้นทรายสะอาด รูปร่างของแม่น้ำช่วงนี้จึงเป็นเหมือนถุงยาวใหญ่ที่กักน้ำไว้ และมีทางออกที่ปากถุงแคบๆ เพียงทางเดียว บริเวณปากแม่น้ำนี้มีพระเจดีย์กลางน้ำ สร้างเมื่อพุทธศักราช 2416 โดยพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชค ชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) ใช้เป็นสัญลักษณ์ของชาวเรือว่าได้เดินทางมาถึงเมืองระยองแล้ว

แม่น้ำรันตี
          แม่น้ำรันตี หรือ ห้วยแม่รันตี เป็นลำน้ำสายหนึ่งในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ไหลไปรวมกับลำน้ำอีกสองสายคือแม่น้ำซองกาเลียและแม่น้ำบีคี่ใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแควน้อย ณ จุดที่เรียกว่า “สามสบ” หรือ “สามประสบ” บริเวณแนวแบ่งเขตตำบลหนองลูกับตำบลปรังเผล แม่น้ำรันตีมีต้นกำเนิดที่พื้นที่ทางตอนใต้ของทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก เกิดจากลำห้วยน้อยใหญ่หลายสายไหลมารวมกัน ทำให้เกิดมีน้ำตกน้อยใหญ่หลายแห่ง เช่น น้ำตกป่งป๊ง ซึ่งเกิดจากลำห้วยสาขาของแม่น้ำรันตีฝั่งซ้าย ในปัจจุบัน แม่น้ำรันตีเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและชื่นชมธรรมชาติแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรีร่วมกับแม่น้ำสองสายข้างต้น เช่น ล่องแก่ง พายเรือคายัก พักผ่อนบนเรือนแพ เป็นต้น

แม่น้ำลพบุรี
          แม่น้ำลพบุรี เป็นลำน้ำสาขาที่แยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ไหลทางตะวันออกผ่านอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ก่อนไหลลงไปทางใต้เข้าเขตอำเภอบ้านแพรก อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอนครหลวง และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักหน้าตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงจะมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดพนัญเชิง ตำบลหอรัตนไชย อำเภอและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความยาวทั้งหมดประมาณ 85 กิโลเมตร

แม่น้ำลัดเกร็ด
          แม่น้ำลัดเกร็ด เป็นทางน้ำสายหนึ่งในเขตจังหวัดนนทบุรี เกิดจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบ้านแหลมซึ่งโค้งวกเข้าไปทางบางบัวทองจนถึงท่าอิฐ ขุดในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเมื่อพุทธศักราช 2265 ขนาดคลองกว้าง 6 วา ยาว 39 เส้น ลึก 6 ศอก ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมตอนหนึ่งว่า “…ในปีขาล จัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์พลนิกายคนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองนั้นคดอ้อมนัก ขุดลัดตัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วถวายบังคมลามา ให้เกณฑ์พลนิกายในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก กว้าง ๓ วา ยาวทางไกลได้ ๒๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึ่งแล้ว…” แต่เดิมเรียกว่า คลองลัดเตร็ดน้อย หรือ คลองลัดเกร็ดน้อย ต่อมาจึงกร่อนเหลือเพียง คลองลัดเกร็ด และเมื่อถูกน้ำเซาะตลิ่งจนกว้างขึ้นก็เรียกกันว่า แม่น้ำลัดเกร็ด บริเวณที่กลายเป็นเกาะเรียกว่าเกาะเกร็ด และบริเวณปากคลองลัดนี้จึงเรียกว่าปากเกร็ด

แม่น้ำลาว
          แม่น้ำลาว หรือ น้ำแม่ลาว เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในจังหวัดเชียงราย มีต้นน้ำเกิดจากดอยนางแก้วในทิวเขาผีปันน้ำ ในเขตบ้านขุนลาว ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไหลผ่าน อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย จากนั้นเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอพานกับอำเภอแม่ลาว เข้าอำเภอแม่ลาว อำเภอเมืองเชียงราย เข้าสู่อำเภอเวียงชัย และท้ายน้ำเป็นเส้นกั้นเขตระหว่างอำเภอเวียงชัยกับอำเภอเมืองเชียงราย บรรจบน้ำแม่กกท้ายฝายเชียงราย

แม่น้ำลำชี
          แม่น้ำลำชี เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูล เกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก เป็นหนึ่งในแม่น้ำไม่กี่สายในประเทศไทย ที่ไหลจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือ โดยกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ แม่น้ำลำชีเป็นหนึ่งในสามแม่น้ำที่สะอาดที่สุดในประเทศไทย ที่มีค่ามาตรฐานความสะอาดเกิน 80% สองข้างตลิ่งอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้พื้นเมืองหายาก ปลาพื้นบ้านนานาชนิด รวมทั้งวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองที่ดำรงค์อยู่ร่วมกับลำน้ำสายนี้มาเป็นเวลานาน

แม่น้ำลี้
          น้ำแม่ลี้ หรือ แม่น้ำลี้ เป็นแม่น้ำสำคัญในจังหวัดลำพูน ต้นกำเนิดจากดอยขุนแม่กวง ในอำเภอทุ่งหัวช้าง ไหลผ่านอำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอแม่ทา ไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอเวียงหนองล่อง มีความยาวทั้งหมดประมาณ 210 กิโลเมตร

แม่น้ำเลย
          แม่น้ำเลย เป็นแม่น้ำในจังหวัดเลยที่ไหลขึ้นไปทางเหนือจะบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน และเป็นแม่น้ำสายหลักสำหรับเกษตรกรรมในจังหวัดเลย

แม่น้ำวัง
          แม่น้ำวัง เป็นแม่น้ำอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เกิดในเทือกเขาผีปันน้ำในเขตจังหวัดเชียงราย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 382 กิโลเมตร ไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง ที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ก่อนจะไหลไปที่แม่น้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำว้า
          ลำน้ำว้า หรือ แม่น้ำว้า มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาบริเวณพื้นที่หมู่บ้านน้ำว้า ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ไหลลัดเลาะผ่านพื้นที่ อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม จนไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ อำเภอเวียงสา ณ บริเวณพึ้นที่รอยต่อสามตำบลของอำเภอเวียงสา อันได้แก่ ตำบลไหล่น่าน ตำบลขึ่ง และ ตำบลกลางเวียง ชึ่งคนท้องถิ่นเรียกกันว่า “สบว้า” รวมระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร โดยได้ไหลผ่านอุทยานแห่งชาติในจังหวัดน่าน รวม 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และอุทยานแห่งชาติแม่จริม ลำน้ำว้าแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ น้ำว้าตอนบน น้ำว้าตอนกลาง และน้ำว้าตอนล่าง ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาผจญภัยในรูปแบบการล่องแก่ง

แม่น้ำเวฬุ
          แม่น้ำเวฬุ เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย ต้นน้ำอยู่ที่เขาชะอมและเขาทุ่งสะพานหินในเขตอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ไหลไปทางทิศใต้ เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอมะขามกับอำเภอขลุง เข้าเขตอำเภอขลุง แล้วไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กับอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ก่อนไหลออกทะเลที่ปากน้ำเวฬุ บริเวณแนวแบ่งเขตระหว่างอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กับอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด มีความยาวทั้งหมดประมาณ 81 กิโลเมตร ตอนต้นน้ำเรียก คลองเวฬุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงแม่น้ำเวฬุเมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออกในปีพุทธศักราช 2419 ว่า “…ที่นี้เปนปากน้ำเมืองขลุง เขาเรียกว่าปากน้ำเวน มีเกาะจิกอยู่ตรงน่าเหมือนลับแล มีเกาะเล็กอยู่อิก ๒ เกาะติดกันไป…” รูปคำว่า เวฬุ มาจากภาษาบาลี แปลว่า “ไม้ไผ่” อย่างไรก็ตาม มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อแม่น้ำที่ออกเสียงว่า เวน นี้ อาจมาจากคำในภาษาพื้นถิ่นดั้งเดิมของผู้คนแถบนี้ ต่อมาผู้รู้ในสมัยหลังเขียนสะกดเป็น เวฬุ เพื่อให้มีรูปคำสอดคล้องกับคำในภาษาบาลี บริเวณปากน้ำเวฬุในปัจจุบันเป็นป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 6,000 ไร่ เป็นแหล่งรวมพรรณไม้ชายเลนหลากหลายชนิด เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ขลู่ จาก ชะคราม ช้าเลือด ปรงหนู ปรงทะเล เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นถิ่นอาศัยของเหยี่ยวแดง มีชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ประกอบอาชีพต่างๆ เช่น การทำประมง หาปู หาปลา ยกยอกุ้ง เลี้ยงปลากระชัง เป็นต้น

แม่น้ำสงคราม
          แม่น้ำสงคราม แม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคอีสาน ในประเทศไทย มีความยาวกว่า 400 กิโลเมตร ไหลผ่าน 4 จังหวัด ถือเป็นลำน้ำสาขาหรือแควของแม่น้ำโขง มีจุดกำเนิดที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน บริเวณภูผาหัก ภูผาเพลิน และภูผาเหล็ก ในท้องที่ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และตำบลคำเลาะ อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี บริเวณต้นน้ำมีลำห้วยสาขาต่างๆ อาทิ ห้วยหวด และห้วยหมากซ่อม ไหลลงห้วยสงคราม, ห้วยอีสาว ไหลลงห้วยสงคราม ห้วยคำเมย-ห้วยคำแคน ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ไหลลงห้วยสงคราม ต่อจากนั้นไหลผ่านอำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย ไหลขึ้นเหนือไปจนถึงอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ผ่านอำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร อำเภอศรีสงคราม ไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านไชยบุรีและบ้านตาลปากน้ำ ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีความยาวโดยประมาณ 420 กิโลเมตร แถบอุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดอุดรธานี จากนั้นไหลผ่านไปยังอำเภอบ้านดุง, จังหวัดสกลนคร, อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 13,001 ตารางกิโลเมตร (8,125,875 ไร่)

แม่น้ำสะแกกรัง
          แม่น้ำสะแกกรัง เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี ต้นน้ำเกิดจากเขาปลายห้วยขาแข้งในเขตอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ไหลลงทางทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันออก เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ กับอำเภอปางศิลาทองและอำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลับเข้าเขตอำเภอแม่วงก์และเข้าเขตอำเภอลาดยาว เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ กับอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เข้าเขตอำเภอสว่างอารมณ์ เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอสว่างอารมณ์กับอำเภอทัพทัน เข้าเขตอำเภอทัพทัน แล้วเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ กับอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เข้าเขตอำเภอเมืองอุทัยธานี ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านหนองปลามัน ตำบลท่าซุง มีความยาวทั้งหมดประมาณ 225 กิโลเมตร

แม่น้ำสาย
          แม่น้ำสาย เดิมเรียกว่า แม่น้ำละว้า (น้ำแม่ละว้า) เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 30 กิโลเมตร มีความยาวในประเทศไทยประมาณ 15 กิโลเมตร แม่น้ำสายแห่งนี้เป็นแม่น้ำที่เป็นพรมแดนทางธรรมชาติที่กั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนม่า ต้นน้ำของแม่น้ำสายอยู่ที่ประเทศเมียนม่าหลังจากนั้นก็ไหลผ่านประเทศไทยระหว่างอำเภอแม่สายกับแขวงท่าขี้เหล็กแล้วก็ไปรวมกับแม่น้ำรวกภายในอำเภอ แม่น้ำหลังจากนั้นก็ไหลรวมเข้ากับแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน ชาวบ้านต่างใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายด้านเกษตรกรรม แต่อย่างไรก็ตามแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกต่างมีปัญหาการกัดเซาะของแม่น้ำทำให้ลำน้ำเปลี่ยนทิศทาง เกิดแผ่นดินงอกและแผ่นดินหด จึงเป็นเหตุพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนม่า จนมีข้อตกลงกันในปีพุทธศักราช 2483 และการสำรวจร่องน้ำลึกในปีพุทธศักราช 2530-2531 แต่ทั้งสองฝ่ายต่างประสบปัญหาในการรักษาตลิ่ง

แม่น้ำสายบุรี
          แม่น้ำสายบุรี เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ต้นน้ำเกิดจากเขาบาตูตาโมง เขาลีแป และเขาอาเนาะยงในเขตอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ไหลจากทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านเขตอำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร และอำเภอรือเสาะ เข้าเขตจังหวัดยะลา ผ่านเขตอำเภอรามัน จากนั้นเข้าเขตจังหวัดปัตตานี ผ่านเขตอำเภอกะพ้อ ก่อนไปลงอ่าวไทยในเขตอำเภอสายบุรี แม่น้ำมีความยาวประมาณ 202 กิโลเมตร ตอนต้นน้ำเรียกว่า คลองอัยยาเด๊ะ ลำน้ำสายบุรีมีลักษณะคดโค้ง มีตลิ่งสูงชัน มีแนวแก่งหินกลางลำน้ำ บางแห่งเป็นเวิ้งหาดทรายและในแม่น้ำมีร่องน้ำลึก ตลอดแนวทิวเขาสันกาลาคีรีเขตภูมิประเทศนี้มีลำน้ำสาขามากมายที่เกิดจากร่องลำธารต่างๆ บนภูเขา ลำธารเหล่านี้ไหลลงสู่แม่น้ำสายบุรี คลองสาขาที่สำคัญและมีขนาดใหญ่จะอยู่ทางทิศเหนือใกล้ชายฝั่งทะเล ได้แก่ คลองบีโฆ คลองสายบุรี คลองไม้แก่น คลองกอตอ และคลองปะดอซา ผู้คนที่อยู่อาศัยที่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพาราและสวนไม้ผลเช่นทุเรียนหรือลองกอง แบ่งเขตวัฒนธรรมเป็น 2 แบบ คือ นิเวศวัฒนธรรมภูเขา ซึ่งตั้งบ้านเรือนในเขตภูเขา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบ้านใหม่ที่คนจากภายนอกอพยพมาบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรกรรม เช่น บ้านไอร์แตแต บ้านไอร์บาลิง บ้านไอร์จูโจ๊ะ เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งคือ นิเวศวัฒนธรรมที่ราบลุ่ม ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ราบลุ่มทุ่งนาระหว่างภูเขากับแม่น้ำสายบุรี มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกือบสองร้อยปี ได้แก่ บ้านซากอ บ้านตอแล และบ้านตามุงในอำเภอศรีสาคร

แม่น้ำสาละวิน
          แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก ยาว 2,800 กิโลเมตร และเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รองมาจากแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะเหนือเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านจังหวัดปกครองตนเองชนชาติลีซอ นู่เจียง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่ซึ่งเรียกแม่น้ำนี้ว่า แม่น้ำนู่ หรือ นู่เจียง หมายถึง “แม่น้ำพิโรธ” ชาวไทใต้คงเรียกแม่น้ำนี้ว่า แม่น้ำคง (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ไทใต้คง”) และผ่านประเทศเมียนม่าผ่านรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศเมียนม่ากับประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินจึงไหลวกกลับเข้าประเทศเมียนม่า และไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ รัฐมอญ แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดที่เดียวกับแม่น้ำโขง และแม่น้ำแยงซี โดยแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนจากต้นกำเนิด และเนื่องจากเป็นน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะ อุณหภูมิของน้ำในแม่น้ำสาละวินจึงมีความเย็นกว่าน้ำในแม่น้ำอื่นๆ ในประเทศไทย บางช่วงมีความลึกมากและน้ำไหลแรง นอกจากนี้ในประเทศจีน พื้นที่ลุ่มน้ำและแม่น้ำสาละวิน เป็น 1 ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ 3 สายในเขตเทือกเขาเหิงต้วน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ร่วมกับ แม่น้ำโขง และ แม่น้ำแยงซี ในเขตพื้นที่มณฑลยูนนาน ภายใต้ชื่อ พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน โดยพื้นที่ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งบนโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลายหลายทางชีวภาพสูง

แม่น้ำหนุมาน
          แม่น้ำหนุมาน หรือ แควหนุมาน เป็นลำน้ำสายหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งต้นจากจุดที่ห้วยใสน้อยและห้วยใสใหญ่ไหลมารวมกันในเขตอำเภอนาดี แล้วไหลลงทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่ราบ และเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอนาดีกับอำเภอกบินทร์บุรี มีห้วยโสมง (แควโขมง) ไหลมาร่วมด้วยทางฝั่งซ้าย จากนั้นไหลเข้าเขตอำเภอกบินทร์บุรี ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำพระปรงที่มาจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี มีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร ตอนต้นน้ำมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แควน้ำใส” ส่วนตอนปลายน้ำมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แควน้อย” (คู่กับ “แควใหญ่” หรือแม่น้ำพระปรง)

แม่น้ำเหือง
          แม่น้ำเหือง หรือตามสำเนียงท้องถิ่นว่า แม่น้ำเหียง เป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยที่มีบางส่วนของแม่น้ำเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับลาวโดยมีต้นกำเนิดมาจากตอนใต้สุดของภูสอยดาว เขตรอยต่อจังหวัดพิษณุโลกกับประเทศลาว และไหลเข้าสู่เขตอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย หลังจากนั้นก็ไหลออกแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ยาว 130 กิโลเมตร อยู่ในเขตประเทศไทย 20 กิโลเมตร และเป็นพรมแดนระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศลาวอีก 110 กิโลเมตร

แม่น้ำอิง
          น้ำแม่อิง เป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา เป็นเพียงหนึ่งในแม่น้ำไม่กี่สายในประเทศที่ไหลย้อนขึ้นทางทิศเหนือ น้ำแม่อิงเป็นลำน้ำสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำโขง โดยไหลลงแม่น้ำโขงที่บ้านปากอิง หมู่ที่ 16 ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีความยาวทั้งหมดประมาณ 260 กิโลเมตร