สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

          พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติ และรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจ ที่ชนต่างชาตินำเข้ามา นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น
          เชวาลิเอร์ เดอโชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศส และคณะ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เชวาลิเอร์ เดอโชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสและคณะ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2228 (ภาพสัญลักษณ์บนแสตมป์ไทย เนื่องในโอกาส 300 ปี สัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.2228-2528)

 

 

          เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้นมีชาวต่างประเทศ เข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากกว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมากคือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจนมีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่างๆ เหนือกว่าชาวเอเชียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ลัทธิคริสต์ศาสนา และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก

          ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ชาวฮอลันดา ได้กีดกันการเดินเรือค้าขายของไทย ครั้งหนึ่งถึงกับส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขู่จะระดมยิงไทย จนไทยต้องผ่อนผัน ยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ แต่เพื่อป้องกันมิให้ฮอลันดาข่มเหงไทยอีก สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงสร้างเมืองลพบุรีไว้เป็นเมืองหลวงสำรอง อยู่เหนือขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยา และเตรียมสร้างป้อมปราการไว้คอยต่อต้านข้าศึก เป็นเหตุให้บาทหลวงฝรั่งเศส ที่มีความรู้ทางการช่าง และต้องการเผยแพร่คริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ได้เข้ามาอาสาสมัครรับใช้ราชการจัดกิจการเหล่านี้ ข้าราชการฝรั่งที่ทำราชการ มีความดีความชอบในการปรับปรุงขยายการค้าของไทยขณะนั้น คือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ซึ่งกำลังมีข้อขุ่นเคืองใจกับบริษัทการค้าของอังกฤษ ที่เคยคบหาสมาคมกันมาก่อน เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงดำเนินการเป็นคนกลาง สนับสนุนทางไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์ กับทางราชการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์กำลังมีพระทัยระแวง เกรงฮอลันดายกมาย่ำยี และได้ทรงทราบถึงพระเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในยุโรปมาแล้ว จึงเต็มพระทัยเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้ เพื่อให้ฮอลันดาเกรงขาม ด้วยเหตุนี้ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีการส่งคณะทูต ไปสู่พระราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศส อย่างเป็นงานใหญ่ถึงสองคราว แต่การคบหาสมาคมกับชาติมหาอำนาจคือ ฝรั่งเศสในยุคนั้น ก็มิใช่ว่า จะปลอดภัยนัก ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์ เข้ารับนับถือคริสต์ศาสนา พร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะ พระเป็นเจ้า มีพระประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้ หากพระเป็นเจ้า มีพระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนา ตามแบบตามลัทธิ ที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจ ที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน

          พระวิสุทธสุนทร (ปาน) ราชทูตไทยและคณะ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2229 (ภาพสัญลักษณ์บนแสตมป์ไทยเนื่องในโอกาส 300 ปี สัมพันธภาพไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.2228-2528)

          สมเด็จพระนารายณ์มิใช่เพียงทรงประปรีชา สามารถทางด้านการทูตเท่านั้น หากทรงเป็นกวี และทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แก่ พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือ จินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และตอนหนึ่งของเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่ง เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์) กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทธคำฉันท์
          พระวิสุทธสุนทร (ปาน) ราชทูตไทยผู้ไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
          ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติ เป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง