พระเจ้าตากสินมหาราช

          พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ในสมัยที่ราชอาณาจักรไทยมีราชธานีอยู่ ณ กรุงธนบุรี พระเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่อันประชาชาติไทยเทิดทูนพระองค์ท่านเป็นวีรกษัตริย์ ก็เนื่องจาก ทรงเป็นผู้กอบกู้เอกราชของชาติไว้ในขณะที่ราชอาณาจักรศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า เมื่อ พ.ศ.2310 และสูญสิ้นอิสรภาพไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงใช้เวลา เพียงประมาณ 7 เดือน ปราบปรามอริราชศัตรูภายนอกประเทศ คือ ขจัดทัพพม่าซึ่งตั้งรักษาการณ์อยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้น แขวงกรุงศรีอยุธยาให้แตกพ่ายถอยหนีไปพ้นราชอาณาจักร แต่อาณาจักรไทยภายหลังการเสียเอกราชไปนั้น ได้แตกแยกออกเป็นชุมนุมต่างๆ หลายชุมนุม ได้แก่ พิษณุโลก พิมาย ฝาง หรือสวางคบุรี (ในบริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์) และนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องเสด็จปราบปราม และเกลี้ยกล่อมเจ้าชุมนุมต่างๆ และพวกให้นอบน้อมยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ท่าน รวมประเทศชาติเป็นปึกแผ่นมีศูนย์การปกครองอยู่ที่กรุงธนบุรีแต่แห่งเดียว การที่มิได้ทรงกลับไป ใช้กรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิมก็เพราะ อยุธยาเป็นเมืองใหญ่ถูกพม่าทำลายยับเยินมากเกินกำลังของพระองค์ท่านซึ่งมีน้อย ทั้งทรัพย์สิน ผู้คน และเวลาที่จะบูรณะให้กลับคืนดีมั่นคงแข็งแรงได้ทันการ

          นอกจากนี้ ยังได้เสด็จนำทัพไปสู้รบกับทัพพม่า ที่ตั้งฐานทัพอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งคอยรบกวนอาณาจักร จนมีชัยชนะ และได้ทรงขยายพระราชอำนาจไปปราบปรามเขมร ซึ่งแยกออกเป็นประเทศอิสระ ทำให้พม่าและเขมรยำเกรง ไม่กล้ายกทัพมาเบียดเบียนรบกวนไทยอีก
          ตลอดเวลา 15 ปี (พ.ศ.2310-2325) แห่งรัชสมัย นอกจากทรงปราบปราม และป้องกันศัตรูของประเทศแล้ว ยังได้ทรงช่วยเหลือราษฎรที่หนีภัยไปทุกทิศทุกทาง โดยชักชวนให้กลับมาตั้งภูมิลำเนา และประกอบอาชีพต่างๆ ตามถิ่นฐานเดิม หรือถิ่นใหม่ที่ปรารถนา เมื่อขาดแคลนอาหาร ก็โปรดให้จ่ายพระราชทรัพย์ ซื้อข้าวสารแจกจ่าย ส่วนบ้านเมืองที่ทรุดโทรม ก็ได้ทรงทำนุบำรุงให้กลับคืนดีเท่าที่กำลัง และเวลา จะจัดทำได้ พระองค์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็นมหาราช และทางราชการได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ไว้หลายแห่ง เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี