พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

          พระองค์ทรงเป็นพระปฐมบรมมหากษัตริย์ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ ฯลฯ (รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ ฯลฯ) ขึ้นเป็นราชธานี พระองค์ทรงมีพระราชประวัติดีเด่น ทั้งในราชการทหาร และพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในราชการสงคราม ทรงป้องกันประเทศชาติบ้านเมือง ให้พ้นภัยจากอริราชศัตรู ตั้งแต่ทรงรับราชการอยู่ในสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จความดีความชอบ เป็นพระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราช ว่าที่สมุหนายก ประมุขแห่งราชการพลเรือน แล้วเป็นเจ้าพระยาจักรีโดยลำดับ และตำแหน่งราชการสูงสุดขั้นสุดท้ายก็คือ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ขณะทรงเป็นแม่ทัพ ไปปราบปรามกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ได้เมืองเวียงจันทร์ เมืองหลวงพระบางนั้นแล้ว ก็ได้ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) กับพระบาง จากเวียงจันทร์ มายังกรุงธนบุรี ระหว่างเสด็จไปปราบปรามการจลาจลทางกัมพูชา หรือประเทศเขมร เพราะเจ้านายเขมรรบพุ่งชิงราชบัลลังก์กันนั้น ก็ได้เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้น ทางกรุงธนบุรี เป็นที่เดือดร้อนแก่สงฆ์ ข้าราชการ และประชาชน เมื่อได้รับรายงานข่าว เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็จำต้องทิ้งราชการฝ่ายชายพระราชอาณาจักร กลับมาจัดฝ่ายราชธานี คือ กรุงธนบุรี ให้สงบเรียบ ร้อย ผู้คนทั้งปวงต่างชื่นชมออกไปต้อนรับ และขอร้องให้เป็นผู้ระงับทุกข์ และอัญเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพิจารณาเห็นว่า ราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงธนบุรี นั้น มีทำเลไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงถาวร ด้วยเหตุที่ทรงคาดคะเนได้ว่า ไม่ช้า พม่าก็จะต้องยกทัพมาตีไทย ซึ่งเพิ่งตั้งตัวขึ้นใหม่อีก กรุงธนบุรีประกอบด้วย อาณาเขตสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็น "เมืองอกแตก" ทำนองเดียวกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยต้องทรงรักษามาแล้ว คราวศึกอะแซหวุ่นกี้ ลำบากทั้งการลำเลียงอาหาร และอาวุธยุทธภัณฑ์ ตลอดจนการสับเปลี่ยนทหาร และชาวเมือง ให้เป็นเวรรักษาหน้าที่ป้องกันบ้านเมือง จึงทรงพระราชดำริ ที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้น ทางฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นหัวแหลมฝั่งเดียว เอาแม่น้ำเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ แล้วขุดคลองขึ้น เป็นคูเมืองด้านทิศเหนือ และตะวันออก เมืองหลวงใหม่นี้ ก็จะมีน้ำล้อมรอบ เป็นชัยภูมิรับศึกได้อย่างดี ครั้นทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นแล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) จากกรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในการที่ทรงขนานนามราชธานีใหม่ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ ฯลฯ" ก็เพื่อให้ต้องกับการที่เป็นเมืองที่สถิต แห่งองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) ศรีสวัสดิ์แห่งราชธานีใหม่นี้

          การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ได้ยังประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ เริ่มด้วยทรงตระหนัก ถึงการได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงมีพระปฐมบรมราชโองการแสดงพระราชปณิธานว่า "ตั้งใจจะอุปถัมภก
ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑเสมา
รักษาประชาชนและมนตรี"

          แล้วพระองค์ท่านก็ทรงปฏิบัติพระองค์ตามพระราชปณิธานโดยเคร่งครัด เริ่มด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งทรงเจริญรอยระบบการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นที่กล่าวขานกันว่า "สมัยบ้านเมืองดี" โดยทรงแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีจตุดมภ์ฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน โปรดให้ประชุมชำระกฎหมาย ซึ่งขาดตกบกพร่องไป คราวเสียกรุงศรีอยุธยา รวบรวมเป็นกฎหมายฉบับ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่ากฎหมายตราสามดวง เพราะประทับตราพระราชสีห์ (ประจำตำแหน่ง สมุหนายกมหาดไทย ว่าการฝ่ายพลเรือน) ตรา พระคชสีห์ (ประจำตำแหน่งสมุหพระกลาโหม ว่าการ ฝ่ายทหาร) และตราบัวแก้ว (ประจำตำแหน่งโกษาธิบดี ว่าการคลังและการต่างประเทศ)

          พระราชกรณียกิจในด้านทรงอุปถัมป์พระพุทธศาสนานั้น ที่สำคัญยิ่งก็คือ โปรดเกล้าฯ ให้ชุมนุม ชำระรวบรวมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา จัดขึ้นเป็นพระไตรปิฎก จารลงบนแผ่นใบลาน ปิดทองใบปก ทั้งหน้าหลัง เพื่อให้เป็นต้นตำรับฝ่ายการพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

          ฝ่ายราชการด้านทัพศึกนั้น เมื่อทรงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มาได้เพียง 3 ปี พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าก็กรีธาทัพใหญ่ถึง 9 ทัพ เข้าตีพระราชอาณาเขตไทย ทัพบกส่วนหนึ่ง ที่ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราช ทรงนำทัพต่อต้านและมีชัยชนะที่แขวง ลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนทัพเรือที่ยกมาทางภาคใต้ ก็ถูกต่อต้านจากสตรีสองท่าน คือ คุณหญิงจันทร์ ภริยาเจ้าเมืองถลาง ซึ่งเพิ่งถึงแก่กรรมขณะนั้น พร้อมด้วยนางมุก น้องสาว นำพลต่อต้านทำให้พม่าต้องถอยทัพกลับไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้เป็นท้าวเทพสตรี และท้าวศรีสุนทร ปัจจุบันนี้ มีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี (หรือเทพสตรี) และท้าวศรีสุนทร ไว้เป็นหลักชัย ที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (ซึ่งขยายเขตออกมาจากเมืองถลาง)

          ต่อมา เขมรซึ่งถือโอกาสระหว่างไทยมีศึกพม่า ได้แยกตัวออกไปฝักฝ่ายด้วยญวน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้ส่งทัพปราบปราม โอนเขมรกลับมาอยู่ใต้อำนาจไทยได้อีก ส่วนฝ่ายญวน เมื่อมีการแก่งแย่งราชสมบัติกันในหมู่เจ้านาย องเชียงสือ เจ้าญวนได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จนมีกำลังพอเพียง จึงกลับไปกู้ราชบังลังก์คืนได้ แล้วถวายความสวามิภักดิ์ ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งพระราชทานพระเมตตา ต้อนรับเป็นอย่างดี ฝ่ายลาวนั้นก็ได้ทรงอภิเษกเจ้าอินทวงศ์ให้ได้ครองลาว ลาวจึงยอมเป็นเมืองขึ้นไทยโดยนอบน้อม

          แม้พระราชกิจส่วนใหญ่จะเป็นไปในด้านสร้างบ้านสร้างเมืองให้ใหญ่โต สง่างาม เทียบเท่ากรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิม และต้องทรงใช้เวลาในการป้องกันพระราชอาณาจักร ให้พ้นจากอริราชศัตรู ก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็มิได้ทรงละทิ้งงานทำนุบำรุงศิลปกรรม และวรรณคดี อันเป็นวัฒนธรรมหลักของชาติ ดังเช่นพระองค์เอง ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา และนิราศท่าดินแดง กวีอื่นก็ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระนิพนธ์เพลงยาวถวายพยากรณ์ นิราศเสด็จไปปราบพม่าเมืองนครศรีธรรมราช และยังมีกวีท่านอื่น เช่น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) นิพนธ์เรื่อง สามก๊ก และราชาธิราช เป็นต้น    บริเวณพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
          ด้านนาฏกรรมเล่า ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟู "โขนละครฟ้อนรำ" ศิลปกรรมนั้น ก็ยังมีปรากฏเป็นพยานให้เห็นได้ชัด ในการตกแต่งประดับประดาพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เครื่องราชูปโภคต่างๆ ที่ประกอบในการพระราชพิธี พระแท่นราชบังลังก์ต่างๆ เช่น พระแท่นบุษบกมาลามหาพิมาน และพระแท่นมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นต้น
          ในโอกาสมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 200 ปี ใน พ.ศ.2525 ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายประชาชน ได้ร่วมใจกันถวายพระสมัญญา "มหาราช" แก่องค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อสวัสดิมงคลแก่ชาติ และขัตติยราชวงศ์ อันพึงเจริญรุ่งเรืองถาวร สืบต่อไปชั่วนิจนิรันดร์