เกาะสมุย ปรากฏชื่อในเอกสารครั้งแรกในหนังสือชีวีวัณย์ พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากรมพระยานุพันธ์ วงศ์วรเดช พ.ศ.2475 มีหลักฐานยืนยันว่ามีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งบนเกาะสมุยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเพราะได้กล่าวถึงเจดีย์ 3 องค์ ซึ่งได้สร้างไว้สมัยกรุงธนบุรี ยังปรากฏหลักฐานจนถึงปัจจุบัน "สมุย" มาจากภาษาใดไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่ามีหลายความหมาย เช่น มาจากภาษาจีนไหหลำ จากคำว่า "เซ่าหมวย" แปลว่า ด่านแรก  บ้างก็ว่ามาจากภาษาทมิฬจากคำว่า "สมอย" แปลว่า คลื่นลม และบ้างก็ว่ามาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในภาคใต้ คือ "ต้นหมุย" จนถึงบัดนี้ก็ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าคำว่า สมุย มีต้นกำเนิดจากภาษาใด

          บริเวณเกาะสมุยเคยมีการตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 1,500 ปีที่ผ่านมาโดยกลุ่มชาวประมง แต่เกาะแห่งนี้เพิ่งมีหลักฐานบันทึกครั้งแรกโดยชาวจีนเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมานี่เอง ทั้งนี้มีการค้นพบเครื่องเคลือบเซรามิคจีนในซากเรือที่จมอยู่ใกล้ชายฝั่งของเกาะสมุย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้เข้ามาทำการค้ากับสมุยตั้งแต่เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว

          แต่เดิมเกาะสมุย การปกครองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชศาลาว่าการเมือง (อำเภอ) ตั้งอยู่บ้านดอนแตง ตำบลหน้าเมือง อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสมุย ต่อมาในปี พ.ศ.2441 ศาลาว่าการเมืองถูกยุบและได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองไชยา โดยมีพระยาเจริญราชภักดีดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอคนแรก ได้พิจารณาที่ตั้งเมืองเดิมซึ่งไม่ค่อยมีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นที่สุ่มบริเวณอ่าวมีหินปะการังจำนวนมากยากแก่การจอดเรือและหลบคลื่นลมในปี พ.ศ.2449 ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหน้าทอน ตำบลอ่างทอง ซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่น มีอ่าวจอดเรือกว้างขวางเหมาะแก่การหลบคลื่นลม เรือสามารถเข้าถึงฝั่งได้สะดวกและเมืองแห่งนี้ คือที่ตั้งเมืองปัจจุบัน

          บางทีสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเกาะแห่งนี้คือการถูกยึดครองช่วงสั้นๆ โดยชาวญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลายปีที่ผ่านมา เกาะสมุยมีชื่อเสียงในเรื่องผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวและการประมง ซึ่งเป็นสินค้าหลักของเกาะ ส่วนสินค้าอื่นๆ จะนำเข้าจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดการติดต่อค้าขายระหว่างเกาะสมุยและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทุกๆ เดือนเรือจากกรุงเทพมหานครเดินทางมาเพื่อรับมะพร้าว แต่เนื่องจากไม่มีท่าเทียบเรือหรือศูนย์กลางชุมชน ทำให้เรือต้องวนอยู่รอบๆเกาะเพื่อรอให้ชาวบ้านนำเรือประมงบรรทุกสินค้าออกไปส่งให้

          ลิงมีบทบาทสำคัญในการเก็บมะพร้าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ลิงที่ได้รับการฝึกฝนจะสามารถปีนต้นมะพร้าวและโยนลูกมะพร้าวลงมาตามคำสั่งของเจ้าของ สิ่งนี้กลายเป็นภาพลักษณ์และเป็นสิ่งดึงดูดใจที่ทำให้เกาะสมุยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม นักท่องเที่ยวสามารถชมการแสดงลิงเก็บมะพร้าวได้ทั่วไปบนเกาะรวมถึงบางส่วนที่ยังคงปฏิบัติกิจวัตรเช่นนี้เป็นเรื่องปรกติ ระหว่างท่องเที่ยวที่เกาะสมุยคุณอาจพบเห็นลิงนั่งซ้อนมอเตอร์ไซต์หรือในรถบรรทุกบนเส้นทางที่จะออกไปเก็บลูกมะพร้าวซึ่งเป็นภาพธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปและน่ารื่นรมย์

          ควายหรือกระบือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชุมชนเช่นกัน เป็นทั้งสัตว์ใช้แรงงานและแหล่งอาหารชั้นดี อีกทั้งป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของไทยดั้งเดิมและมักถูกโยงให้เข้าร่วมเมื่อมีการจัดงานเฉลิมฉลองด้วยทุกครั้ง ผ่านมาไม่นานนี้การชนควายได้กลายเป็นกีฬาแบบดั้งเดิมและเป็นเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะสมุยไปแล้ว ฟังดูเหมือนเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความรุนแรง แต่ความจริงเกมการตัดสินจะหยุดลงเมื่อฝ่ายนึงล่าถอยออกไปและเหลือผู้ชนะเพียงตัวเดียวเท่านั้น

          ก่อนที่จะมีถนนนั้น การเดินทางจากเกาะไปที่อื่น ก่อนที่จะมีการจัดสร้างถนนหนทาง การเดินทางจากที่หนึ่งบนเกาะไปอีกทีหนึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ดังนั้นจึงนิยมใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางระหว่างหมู่บ้าน ส่งผลให้หมู่บ้านส่วนใหญ่มักสร้างอยู่ตามแนวชายฝั่งเพื่อความสะดวก หลายปีต่อมาหมู่บ้านต่างๆ เริ่มขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้นทำให้ช่องว่างระหว่างหมู่บ้านลดน้อยลง ครอบครัวเริ่มการขยับขยาย มีการแต่งงานกันระหว่างหมู่บ้านทำให้เกาะเริ่มเจริญเติบโตมากขึ้น

          ราวๆ ปี พ.ศ.2493 เริ่มมีการพัฒนาหลักๆที่สำคัญบนเกาะสมุย แต่ละหมู่บ้านมีวัดแยกเป็นของตนเอง และเพื่อเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้มีการติดต่อของพระในละแวกใกล้เคียง จึงเริ่มมีการสร้างถนนดินเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปยังส่วนต่างๆ บนเกาะซึ่งดำเนินการไปอย่างช้าๆ หมู่บ้านหน้าทอนเป็นหมู่บ้านที่เติบโตและมีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นที่เดียวที่ให้บริการเรือข้ามฟากจากเกาะสมุยไปแผ่นดินใหญ่ ต่อมาได้มีการพัฒนาสร้างเส้นทางคมนาคมตัดผ่านหน้าทอน ละไมและเฉวงตามลำดับ จนกระทั่งในช่วงต้นของปี พ.ศ.2533 เส้นทางรอบเกาะจึงถูกสร้างขึ้น อาสาสมัครจากหน่วยงานสันติภาพ (Peace Corp) เป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกๆที่เข้ามาในเกาะสมุยโดยใช้เส้นทางของเรือขนส่งมะพร้าว จากเกาะที่ไม่มีความสำคัญ ไม่มีจุดเด่น แต่เกาะสมุยในปัจจุบันได้พัฒนาและเติบโตเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับวันหยุดพักผ่อนของประเทศไปแล้ว และถือเป็นคู่แข่งสำคัญของเกาะภูเก็ตบนชายฝั่งทะเลตะวันตกเลยทีเดียว

เรียงลำดับตามช่วงปีที่เกิดเกาะสมุย

  • วันที่ 16 พฤษภาคม 2440 รวมเกาะสมุย มณฑลนครศรีธรรมราช เกาะพะงัน มณฑลชุมพร รวมขึ้นกับเมืองกาญจนดิษฐ์ มณฑลชุมพร จาก "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 14(7): 83. May 16, 1897.
  • วันที่ 30 กันยายน 2490 ตั้งตำบลลิปะน้อย แยกออกจากตำบลอ่างทอง ตั้งตำบลมะเร็ต แยกออกจากตำบลหน้าเมือง ตั้งตำบลแม่น้ำ แยกออกจากตำบลบ่อผุด ตั้งตำบลบ้านใต้ แยกออกจากตำบลเกาะพะงัน จาก "เรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่างๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 46 (64): 2507. 30 กันยายน 2490.
  • วันที่ 20 กันยายน 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลเกาะสมุย ในท้องที่บางส่วนของตำบลอ่างทอง จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (75): (ฉบับพิเศษ) 84 - 86. 20 กันยายน 2499.
  • วันที่ 1 มีนาคม 2501 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลมะเร็ต ในท้องที่ตำบลมะเร็ต จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 75 (18 ง): (ฉบับพิเศษ) 2 - 6. 1 มีนาคม 2501.
  • วันที่ 23 เมษายน 2506 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลมะเร็ต และเปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตำบลอ่างทอง (ยกเว้นหมู่เกาะอ่างทอง) ตำบลลิปะน้อย ตำบลตลิ่งงาม ตำบลหน้าเมือง ตำบลมะเร็ต ตำบลบ่อผุด ตำบลแม่น้ำ ตำบลเกาะพะงัน (ยกเว้นเกาะเต่า) และตำบลบ้านใต้ จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (38 ง): 1203 - 1204. 23 เมษายน 2506.
  • วันที่ 29 กันยายน 2513 แยกพื้นที่ตำบลเกาะพะงัน และตำบลบ้านใต้ จากอำเภอเกาะสมุย ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอเกาะพะงัน และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเกาะสมุย จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 87 (90 ง): 2790. 29 กันยายน 2513.
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2516 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย โดยแยกพื้นที่ตำบลเกาะพะงัน และตำบลบ้านใต้ ไปจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลเกาะพะงัน กิ่งอำเภอเกาะพะงัน ส่วนเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลอ่างทอง (ยกเว้นหมู่เกาะอ่างทอง) ตำบลลิปะน้อย ตำบลตลิ่งงาม ตำบลหน้าเมือง ตำบลมะเร็ต ตำบลบ่อผุด ตำบลแม่น้ำ และเพิ่มให้ครอบคลุมพื้นที่เกาะพะลวย ของตำบลอ่างทอง เกาะแตน ของตำบลตลิ่งงาม จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 90 (106 ง): 2443 - 2447. 21 สิงหาคม 2516.
  • วันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 ยุบสุขาภิบาลเกาะพะงัน กิ่งอำเภอเกาะพะงัน เนื่องจากไม่สามารถบริหารกิจการของสุขาภิบาลให้เจริญก้าวหน้าได้ และประชาชนในเขตสุขาภิบาลไม่ต้องการให้ท้องถิ่นนี้มีการปกครองเป็นสุขาภิบาล จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยุบสุขาภิบาลเกาะพงัน กิ่งอำเภอเกาะพงัน อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎรณ์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (143 ง): (ฉบับพิเศษ) 9 - 11. 16 พฤศจิกายน 2519.
  • วันที่ 12 เมษายน 2520 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย เป็น อำเภอเกาะพะงัน จาก "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอปลายพระยา อำเภอห้วยเม็ก อำเภอละแม อำเภอแม่จริม อำเภอหนองกี่ อำเภอโคกปีบ อำเภอเกาะพะงัน อำเภอสนม อำเภอโซ่พิสัย อำเภอโนนสะอาด และอำเภอนาจะหลวย พ.ศ.2520" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 94 (31 ก): 326 - 330. 12 เมษายน 2520.
  • วันที่ 27 ตุลาคม 2523 เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอเกาะสมุย กับอำเภอดอนสัก โดยโอนพื้นที่หมู่ 7 เกาะเชือก เกาะนกเภา เกาะริกัน (ในขณะนั้น) ของตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย ไปขึ้นกับตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและความสะดวกของประชาชน จาก "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอเกาะสมุย กับอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ.2523" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 97 (165 ก): (ฉบับพิเศษ) 4 - 6. 27 ตุลาคม 2523.
  • วันที่ 29 ธันวาคม 2524 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย โดยเพิ่มให้ครอบคลุมพื้นที่เกาะพะลวย ของตำบลอ่างทอง เกาะแตน ของตำบลตลิ่งงาม และครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตำบลอ่างทอง (ฝั่งเกาะสมุย) ตำบลลิปะน้อย ตำบลตลิ่งงาม ตำบลหน้าเมือง ตำบลมะเร็ต ตำบลบ่อผุด และตำบลแม่น้ำ จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (215 ง): 4769 - 4771. 29 ธันวาคม 2521.
  • วันที่ 4 ตุลาคม 2539 จัดตั้งศาลจังหวัดเกาะสมุย ในท้องที่อำเภอเกาะสมุย ให้มีเขตตลอดท้องที่อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน จาก "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ.2539" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (45 ก): 4 - 5. 4 ตุลาคม 2539., "พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลจังหวัดเกาะสมุย พ.ศ.2549" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 123 (79 ก): 1 - 3. 4 สิงหาคม 2549. และ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราประจำชาด [ศาลจังหวัดเกาะสมุย]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 123 (106 ง): 1. 12 ธันวาคม 2549.
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลเกาะสมุย เป็นเทศบาลตำบลเกาะสมุย ด้วยผลของกฎหมาย จาก "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.2542" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1 - 4. 24 กุมภาพันธ์ 2542.
  • วันที่ 4 ตุลาคม 2553 เปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลเกาะสมุย เป็นเทศบาลเมืองเกาะสมุย โดยยึดพื้นที่ครอบคลุมตามแบบประกาศกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ.2524 เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลเกาะสมุย และเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมเกาะฟาน เกาะลุ่มหมูน้อย เกาะฟานใหญ่ เกาะฟานน้อย เกาะส้ม เกาะมัดหลัง ของตำบลบ่อผุด เกาะเตาปูน เกาะมดแดง เกาะกล้วย เกาะตู ของตำบลอ่างทอง เกาะแมลงป่อง เกาะแม่ทับ เกาะดิน เกาะทะลุ เกาะเจตมูล ของตำบลตลิ่งงาม จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเทศบาลเมืองเกาะสมุย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 127 (ตอนพิเศษ 116 ง): 15. 4 ตุลาคม 2553.
  • วันที่ 27 มกราคม 2557 เปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลเมืองเกาะสมุย เป็นเทศบาลนครเกาะสมุย จาก "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลเมืองเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเทศบาลนครเกาะสมุย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 131 (พิเศษ 18 ง): 28. 27 มกราคม 2557.